ข่าวประชาสัมพันธ์
นายกฯ ประกาศไทยพร้อมเป็น ปธ.อาเซียนปี 62 ชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี
- รายละเอียด
- หมวดหลัก: ประชาสัมพันธ์
- หมวด: แจ้ง/ประชาสัมพันธ์/ประกาศ
- เผยแพร่เมื่อ: วันพฤหัสบดี, 06 มิถุนายน 2562 14:31
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 1083
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ไทยได้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการจากสิงคโปร์ ประธานอาเซียนปัจจุบัน หลังพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่สิงคโปร์ โดยไทยจะเริ่มหน้าที่เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2562 ตลอดทั้งปี
นอกเหนือจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว หน่วยงานไทย เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงแรงงาน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในรายสาขาต่างๆ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสถึงระดับรัฐมนตรี และการประชุมสุดยอดในระดับผู้นำ รวมแล้วกว่า 170 การประชุมซึ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในการรับเป็นประธานอาเซียนนั้น ประเทศไทยได้ประกาศแนวคิดหลัก (theme) ในการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายที่โยงถึงยุทธศาสตร์ของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบ่งบอกถึงทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่สำคัญ คือ ความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต ซึ่งหมายถึงการที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัต สู่อนาคตที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียน
แนวคิดหลักข้างต้นมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่ไทยจะเน้นย้ำและผลักดันเพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้แก่
(1) ‘การก้าวไกล’ (Advancing)
- หมายถึง การมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด (disruptive technologies) และความท้าทายต่างๆ ในอนาคต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การมีดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN)
(2) ‘การร่วมมือ ร่วมใจ’ (Partnership) คือ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประชาคมโลก รวมทั้งกับประเทศคู่เจรจา โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การสร้างอาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN)
(3) ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) หมายถึงการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน (sustainable security) หรือความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่ยั่งยืน และความยั่งยืนด้านความมั่นคงของมนุษย์ หรือ Sustainability of Things (SoT)
พร้อมกันนี้ ไทยยังได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ (logo) ทางการของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ซึ่งผู้ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์อันทรงคุณค่านี้ได้ใช้ “พวงมาลัย” เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตราสัญลักษณ์ จากแนวคิดที่ว่า คนไทยนิยมใช้พวงมาลัยในงานมงคล เป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับและให้เกียรติผู้มาเยือน โดยได้ผสมผสานงานศิลปะที่สะท้อนถึงความเป็นไทยกับมิติของความทันสมัยได้อย่างลงตัว
“ดอกไม้” ซึ่งนำมาร้อยเรียงเป็น “พวงมาลัย” สื่อถึงประชาชนของประชาคมอาเซียนที่มีความร่วมมือกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน “อุบะมาลัย” เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ สัญลักษณ์ดังกล่าวเมื่อมองจากด้านล่างขึ้นด้านบน เห็นเป็นรูปลูกศรที่พุ่งทะยานขึ้น สะท้อนถึงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” ส่วนสีหลักที่ใช้ในผลงาน ได้รับเเรงบันดาลใจมาจากสีเปลือกมังคุด ซึ่งเป็นสีโทนไทย และได้ปรับโทนสีให้มีความทันสมัยและเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้งาน
ที่มาของตราสัญลักษณ์การเป็นประธานอาเซียนของไทยปี 2562 นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมอาเซียน, กระทรวงการต่างประเทศ, คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งได้จัดโครงการการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 (2nd National Youth Design Competition) ชิงรางวัลมูลค่ารวม 270,000 บาท เชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 25 ปี ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย โดยสมัครเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบทีมก็ได้ และให้ผู้เข้าประกวดส่งผลงานออกแบบเป็นตราสัญลักษณ์แบบ combination mark เป็นภาพสัญลักษณ์ (symbol) ซึ่งมีตราสัญลักษณ์อาเซียนเป็นส่วนสำคัญในองค์ประกอบ
ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอผลงานที่ได้รับการคัดเลือก 5 ผลงาน ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ พิจารณาคัดเลือกผลงานที่สมควรใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นออกแบบโดยนายเขมพงษ์ รุ่งสว่าง อายุ 25 ปี และนางสาวชยุตา หอมหนัก อายุ 23 ปี
แนวทางของการประกวดตราสัญลักษณ์อยู่ภายใต้แนวคิด “Advancing Partnership for Sustainability” โดยการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 มุ่งเน้นการผลักดันความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน โดยต้องการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อ “ขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน สร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต” นอกจากนี้ องค์ประกอบของการสร้างพันธมิตรจะทำให้อาเซียนมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น